ศิลปะ สามารถช่วยให้ลูกเก่งคณิตศาสตร์ได้

       วันก่อนอ่านเจอบทความ จากนิตยาสารรักลูก พบบทความเรื่อง “ศิลปะ ก็ช่วยให้ลูกเก่งคณิตศาสตร์ได้ “ เห็นว่ามีประโยชน์น่าสนใจ สำหรับคนที่รักและใส่ลูกรัก จึงเก็บมาฝากเพื่อเป็นแนวทางค่ะ

ศิลปะ ก็ช่วยให้ลูกเก่งคณิตศาสตร์ได้

       โดยทั่วไปเราจะเห็นกันว่าศิลปะกับคณิตศาสตร์ คือเรื่องที่ตรงข้ามกันยากจะหาคนที่เก่งทั้งสองเรื่องนี้ได้ แต่ถ้าเราพิจารณากันอย่างละเอียดแล้วจะพบว่า ในเรื่องของศิลปะกลับมีคณิตศาสตร์เข้าไปอยู่มากมาย และความสามารถทางศิลปะก็มีส่วนช่วยให้ความสามารถทางคณิตศาสตร์โดดเด่นขึ้นด้วย

ศิลปะ ช่วยให้ลูกเก่งคณิตศาสตร์ได้

       ทั้งนี้เพราะในงานศิลปะไม่ว่าจะเป็นภาพวาด งานปั้น งานสาน งานเย็บปักถักร้อยต่างๆ ฯลฯ ทั้งหมดล้วนสามารถเชื่อมประสานได้กับการเรียนคณิตศาสตร์ เช่น เราจะวาดภาพ 1ภาพ มีต้นไม้ 1ต้น บ้าน 1หลัง บ่อน้ำ 1บ่อ และคน 3คน พร้อมดวงอาทิตย์ 1ดวง นอกจากลูกจะได้เรียนรู้เรื่องของรูปทรง และรูปร่างของสิ่งของต่างๆ เหล่านี้แล้วลูกยังได้เรียนรู้เรื่องเลข เช่น เลข 1 และเลข 3

         นอกจากนั้น ลูกยังเข้าใจเรื่องของปริมาตรเล็กใหญ่ เช่น ต้นไม้จะมีขนาดใหญ่กว่าบ้าน หรือคนตัวจะเล็กกว่าต้นไม้ และมิติสัมพันธ์ว่าบ้านจะอยู่ลึกเข้าไป โดยมีบ่อหน้าตั้งอยู่ตรงกลางหน้าบ้านไปโดยไม่รู้ตัวด้วยศิลปะ กับเก่งคณิตศาสตร์้

 
เก่งเลขในที่นี้คืออะไร ?

           คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งคิดไปนะคะว่า เก่งเลขในที่นี้คือการคำนวณเก่ง คิดสูตรเลขคณิตได้เร็ว เพราะการเก่งเลขขณะที่เรียนรู้ศิลปะไปด้วยนั้น เป็นหลักคณิตศาสตร์พื้นฐานง่ายๆ เท่านั้นค่ะ เช่น ลูกเราวาดรูปบ้าน 1หลัง ลูกจะได้เรียนรู้เรื่องลักษณะของบ้าน และจำนวน 1 ไปพร้อมๆ กัน

         อีกอย่างหนึ่ง “เลข” ในที่นี้ยังหมายรวมถึงเรื่องรูปทรงที่แตกต่าง เช่น เล็ก ใหญ่ สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ถ้าเราวาดรูป 1รูปให้ลูกดู อาจจะมีทั้งดวงอาทิตย์ คลื่นทะเล เรือใบ เก้าอี้ชายหาด ภาพวาดทั้งหมดจะมีรูปทรงที่แตกต่างกัน ก็สอนลูกเรื่องรูปทรงไป

          แต่เอ...ทำไมเรือใบถึงอยู่ลึกเข้าไปในภาพเมื่อเปรียบเทียบกับคลื่นทะเล หรือทำไมเก้าอี้ชายหาดถึงอยู่ใกล้ตาเรามากกว่าตำแหน่งของดวงอาทิตย์ที่อยู่ไกลออกไป นั่นคือเรื่องของมิติสัมพันธ์ล่ะค่ะ

    ศิลปะ ก็ช่วยให้ลูกเก่ง

        เหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานสร้างความเข้าใจเรื่องคณิตศาสตร์ให้ลูก ซึ่งลูกก็จะไปต่อยอดเรียนรู้เรื่องสูตรเลขคณิต หรือการคำนวณที่ยากขึ้นหรือการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลเมื่อโตขึ้นค่ะ พ่อแม่ไม่เก่งศิลปะเลย ...ลูกจะเก่งเลขได้ไหม ?

        คำถามนี้ อาจมีคุณพ่อคุณแม่หลายท่านสงสัย  รศ.ดร.กุลยา  ตันติผลาชีวะ อาจารย์ประจำ คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัย       ศรีนครินทรวิโรฒ บอกว่าเรื่องจะวาดรูปเก่ง หรือทำงานศิลปะดีหรือไม่นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญค่ะ เพราะเพียงแค่คุณพ่อหรือคุณแม่มีเวลาหากิจกรรม เช่น ตัดปะกระดาษกับลูก หรือปั้นแป้งโดหรือแค่เพียงระบายสีลงบนกระดาษขาว แค่นี้ก็ถือว่าเป็นงานศิลปะภายในบ้าน ที่ทุกคนในครอบครัวสามารถร่วมกันทำได้ เรียนรู้เรื่องความสวยงามและเรื่องเลขไปได้ในตัว โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรให้มากมายเลย
สอนลูกเรื่องเลขผ่านศิลปะได้เมื่อไหร่

เก่งศิลปะ เก่งเลข

       เริ่มได้ตั้งแต่ลูกอายุ 2-3ขวบไปเลยค่ะ เช่น ลูกอายุ 3ขวบ เราเพียงให้ลูกวาดรูปขึ้นมาสัก 1รูป โดยแนะนำให้เขานิดๆ หน่อยๆ เช่น เราอยากให้เขาวาดรูปบ้านให้ดูสักหน่อย ซึ่งตัวบ้านจะเล็ก ใหญ่ เหมือนหรือต่างจากของจริงอย่างไรก็ได้ เรื่องนี้อย่างน้อยลูกก็ได้เรียนรู้เรื่องรูปทรงและสี ยิ่งถ้าเราให้ลูกวาดบ้านสัก 2-3หลัง ลูกก็จะค่อยๆ เรียนรู้เรื่องตัวเลขไปทีละน้อย แต่ทั้งหมดนี้ต้องทำไปอย่างเป็นธรรมชาติ ยึดความสนใจและความสนุกสนานของลูกเป็นหลักนะคะ

       พอลูกโตขึ้นมาอีกสักหน่อย เราสามารถเพิ่มความยากในเรื่องงานศิลปะให้เขาได้ เช่น จากวาดรูประบายสีก็อาจจะพัฒนาไปเป็นการปั้นดินน้ำมันให้เป็นรูปทรงต่างๆ เช่น รูปสัตว์ หรือรูปสิ่งของ ตรงนี้จะช่วยลูกเรื่องความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการคิดคำนวณปริมาตรของวัตถุ เช่น ขนาดขาหรือแขนสัตว์ ควรเป็นรูปทรงที่ใหญ่หรือเล็ก เป็นต้น

       เมื่อถึงวัยที่ลูกเติบโตขึ้นเรื่อยๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถคิดหางานศิลปะที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ตามพัฒนาการของลูก เช่น หางานเย็บปักถักร้อยมาให้ลูกได้ทำ หรือหาหินก้อนเล็กๆ มาให้ลูกวาดรูปลงบนนั้น ฯลฯ กิจกรรมงานศิลปะที่ยกมานี้ต้องอาศัยกล้ามเนื้อแขนและขาที่มั่นคงพอสมควร ทั้งการทำงานระหว่างตาและมือจะเริ่มประสานกันได้มากขึ้นกว่าเด็กเล็กๆ ค่ะ

ศิลปะกับคณิต

สอนลูกด้วยศิลปะหลากหลายแบบ อาจารย์กุลยา

แนะนำดังนี้ค่ะ

         1. ศิลปะย้ำ เช่น สมมติว่าลูกเห็นตัวเลข 1 ที่เราเขียนลงบนกระดาษ เขาจะรู้ว่าตัวเลขนี้เรียกว่าอะไร พอไปเห็นภาพวาดแม่ไก่ 1 ตัว พร้อมตัวเลข 1 กำกับอยู่ข้างๆ นั่นเท่ากับเป็นการย้ำการเชื่อมโยง จำนวนที่สัมพันธ์กับตัวเลข 1 ให้ลูกอีกครั้งว่านี่คือเลขอะไร และความหมายของตัวเลขนี้คืออะไร ต่อไปเมื่อลูกเห็นตัวเลขนี้อีกลูกจะจำได้เองค่ะ

        2. ศิลปะถ่ายโยง คือการเอางานศิลปะมาถ่ายโยงสู่สภาพจริงตรงนี้อาจารย์กุลยายกตัวอย่าง จากประเทศญี่ปุ่นที่ออกแบบรูปแอปเปิ้ลสีแดงที่มีรอยปะมาหลายๆ ลูกด้วยกัน ต่อจากนั้นให้เด็กๆ ค่อยๆ ฉีกผลแอปเปิ้ลตามรอยปะทีละคนสองคน โดยใครฉีกได้หนึ่งผลก็นำมาใส่ตะกร้าเอาไว้ งานศิลปะชิ้นนี้นอกจากเด็กจะได้เรียนรู้ว่าผลแอปเปิ้ลมีลักษณะอย่างไรแล้ว เขายังได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กและความเพลิดเพลินในการฉีกและนำมาใส่ตะกร้าด้วยค่ะ

      3. ศิลปะปรับภาพ ที่ต้องอาศัยประสบการณ์ตรงจากลูกน้อยพอสมควรนะคะ เช่น ลูกควรมีภาพในหัวอยู่บ้างว่าใบมะขามหรือดอกกุหลาบมีลักษณะอย่างไร ครั้นพอเราลองวาดกิ่งไม้หรือลำต้นไม้ใหญ่ลงบนกระดาษเปล่าๆ แล้วให้ลูกวาดดอกกุหลาบให้ดู ลูกจะเริ่มเชื่อมโยงและเริ่มคิดถึงภาพในห้วงสำนึก ต่อจากนั้นเขาจะวาดรูปนั้นๆ ออกมาได้เองค่ะ เรียกว่าได้ใช้จินตนาการส่วนตัวต่อเติมชิ้นงานจากภาพเดิมที่เคยรับรู้ ศิลปะแบบนี้ต้องเริ่มจากการที่เราให้ลูก ได้มีโอกาสเห็นและสังเกตสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวด้วยค่ะ

        4. ศิลปะเปลี่ยนแบบ ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ตรงและความรู้พื้นฐานของลูกอยู่สักหน่อยค่ะ เช่น เราเอาใบไม้มาขยี้ให้เป็นรูปทรงอีกรูปทรงหนึ่ง ต่อจากนั้นเราอาจจะให้ลูกลองนำใบไม้ที่ถูกขยี้มาตัดแปะ เป็นงานศิลปะชิ้นใหม่บนกระดาษขาว แค่นี้ลูกจะค่อยๆ เรียนรู้แล้วค่ะว่า สิ่งของเมื่อเปลี่ยนรูปทรงสามารถดัดแปลงเป็นสิ่งของชิ้นใหม่ได้

      5. ศิลปะแบบบูรณาการ เด็กจะเริ่มคิดค้นประดิษฐ์งานศิลปะด้วยตัวเอง เช่น สร้างต้นไม้เล็กๆ ขึ้นเองจากกิ่งไม้เล็กๆ หลายๆ กิ่งด้วยกัน หรือสร้างก้อนหินจากกระดาษทิชชูที่ปั้นเป็นก้อนๆ

       6. ศิลปะค้นหา เช่น เราอาจจะวาดรูปสัตว์รวมทั้งต้นไม้ดอกไม้ไว้อยู่เต็มไปหมด ต่อจากนั้นเราจึงให้ลูกค้นหาว่าสัตว์ตัวนั้นๆ เรียกว่าอะไร ต้นไม้มีชื่ออะไร ดอกไม้ชนิดนั้นมีกี่กลีบ กลีบมีสีอะไรบ้าง คำถามทั้งหมดจะช่วยลูกเรื่องเลขและวิทยาศาสตร์ไปด้วยในตัวค่ะ
ศิลปะมีประโยชน์ด้านอื่นอีกไหม ?

ศิลปะกับเด็กเล็ก

 


นอกจากศิลปะจะช่วยสอนลูกเรื่องคณิตศาสตร์แล้ว ศิลปะยังมีข้อดีอื่นๆ อีกด้วยนะคะ

• ศิลปะเพื่อศิลปะ ซึ่งสิ่งที่เด็กชอบมากที่สุดคือการได้ทำอะไรที่ไม่มีระเบียบ ไม่มีกฎเกณฑ์ และการทำงานศิลปะคือการทำงานเสรี ดังนั้นเด็กแทบทุกคนจะชอบทำงานศิลปะค่ะ

• ศิลปะสอดคล้องกับพัฒนาการเด็ก เช่น การวาดรูป 1 รูป หรือปั้นแป้งโดให้เป็นสัตว์ 1 ตัว นอกจากจะช่วยลุกเรื่องความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังช่วยเรื่องพัฒนาการกล้ามเนื้อเล็กและใหญ่ด้วย

• ศิลปะสอดคล้องกับความคิด ในที่นี้คือความคิดที่ลูกของเราจะผลิตงานศิลปะชิ้นหนึ่งๆ ออกมา เช่น ถ้าลูกวาดรูปบ้านและมีเราอยู่ในนั้น อาจหมายถึงความรักและความผูกพันที่ลูกมีต่อเราค่ะ การทำงานศิลปะจึงเป็นโอกาสที่ลูกจะได้ใช้ความคิดและจินตนาการค่ะ

• ศิลปะสอนลูกให้รู้สึกซาบซึ้ง มีอารมณ์สุนทรี ทุกครั้งที่ลูกได้ทำงานศิลปะไม่ว่าจะเป็นการวาดรูป ปั้นแป้งโด หรือเย็บปักถักร้อย ฯลฯ จิตใจของลูกจะได้รับการกล่อมเกลาให้ละเอียดอ่อนขึ้นค่ะ

ประโยชน์ของศิลปะ

ด้วยประโยชน์ที่มีมากมายของงานศิลปะ เราคงต้องค่อยๆ เริ่มสอนและให้ลูกเรียนรู้กิจกรรม ที่เราคิดค้นให้ลูกเล่นไปเรื่อยๆ ตามพัฒนาการของเขา แล้วทีนี้เราจะได้ลูกที่มีความสุนทรีย์ในหัวใจ และมีหลักคิดในทางคณิตศาสตร์ในคนคนเดียวค่ะ

ที่มา นิตยสารรักลูก ปีที่ 22 ฉบับที่ 258

      น้องโซเฟีย ก็ชอบศิลปะ นะคะที่ผ่านมาก็ได้เป็นตัวแทนจังหวัดสระบุรีเขต 1 ไปร่วมงานแข่งขันภาพปะติด ศิลปะหัตถกรรมภาคกลางที่ จังหวัดอยุธยามา ได้เหรียญทองด้วยนะ

แข่งขันภาพปะติด ศิลปะหัตถกรรมภาคกลางที่ จังหวัดอยุธยา

ชนะเลิศระดับเขต

 

ภาพปะติด ศิลปะหัตถกรรมภาคกลางที่ จังหวัดอยุธยา

 เหรียญทองระดับภาคกลาง โซเฟียกับเติ้ล

 

ศิลปะ อนุบาลสระบุรี

กับพี่ๆ ทีมศิลปะ โรงเรียนอนุบาลสระบุรี

ศิลปะกับโซเฟีย toyota

ประกวดภาพวาดของ TOYOTA

ศิลปะของโซเฟีย toyata

เป็นไงบ้างฝีมือ หนู สวยมั๊ย

ศิลปะกับโซเฟีย

1 ความคิดเห็น:



ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เก่งทุกด้านเลยนะเนี๊ยะ...หนูโซเฟีย

ครูรุ่ง